“มะเร็งสมอง”ระยะไหนที่รักษาหาย? อาการปวดหัวแบบไหนบ่งชี้โรค?
รู้หรือไม่? ผู้ที่มีอาการปวดหัวเรื้อรังใน 1 แสนคน มีอยู่ 10 คนที่เป็นโรคเนื้องอกในสมอง ขณะที่มะเร็งสมองมีอัตราการเกิดน้อยเพียง 1.67% แต่กลับเป็นมะเร็งที่พบได้ทุกเพศทุกวัยไม่ต้องรอให้สูงอายุหรือสะสมโรค แล้วหากเป็นจะรักษาหายได้หรือไม่ ? อาการของโรคเป็นอย่างไร? ปวดหัวแบบไหนมีความเสี่ยง ?
เนื้องอกสมอง หรือ Brian Tumor คือเนื้องอกที่เกิดขึ้นภายในศีรษะของคนเรา ซึ่งมีอยู่ด้วยกันหลายชนิด ซึ่งมีโอกาสเกิดขึ้นได้ไม่มากนัก โดยชนิดที่ไม่ใช่เนื้อร้าย เคยมีการสำรวจพบว่า ผู้ป่วยที่มีอาการปวดศีรษะ 100,000 คน มีจำนวนประมาณ 10 คนที่มีสาเหตุของอาการปวดศีรษะมาจากเนื้องอกในสมอง ส่วนเนื้องอกในสมองที่เป็นเนื้อร้าย หรือที่เรียกว่าเป็นมะเร็งสมองนั้นมีอัตราการพบโรคนี้อยู่ที่ 1.67 % ของโรคมะเร็งทั้งหมด ซึ่งถือว่าพบได้ไม่บ่อยมากนัก
แต่ในจำนวนที่พบนั้นสามารถพบได้ทุกวัยและทุกเพศ คือไม่ว่าจะเป็นเด็ก ผู้หญิง ผู้ชาย ผู้ใหญ่ คนชรา ก็สามารถมีโอกาสป่วยเป็นโรคเนื้องอกสมองได้เหมือนกันหมดเนื้องอกของสมองนั้นอาจแบ่งได้เป็น 2 ชนิด คือ เนื้องอกไม่ร้ายแรงไม่เติบโตหรือเติบโตได้ช้าและเนื้องอกร้ายแรงหรือมะเร็ง ในที่นี้จะขอกล่าวถึงส่วนที่เป็นเนื้องอกร้ายแรงคือกลุ่ม
กลุ่มเนื้องอกสมองร้ายแรงที่เกิดขึ้นในสมอง ไม่มีปัจจัยที่แน่ชัดว่าอะไรเป็นสาเหตุของการเกิดเนื้องอกโดยตรง แต่พบว่ามีหน่วยพันธุกรรมที่ผิดปกติของเซลล์สมองเป็นปัจจัยร่วม
กลุ่มเนื้องอกที่แพร่มาจากที่อื่น เช่น มะเร็งของปอด มะเร็งเต้านม มะเร็งลำไส้ใหญ่ เป็นต้น
ความรุนแรงของโรคเนื้องอกในสมองระดับไหนเรียกมะเร็งสมอง
- ระดับที่ 1 เนื้องอกในระดับนี้..ยังเป็นก้อนเนื้อที่เติบโตช้า และยังไม่มีการแพร่กระจาย สามารถผ่าตัดรักษาให้หายขาดได้
- ระดับที่ 2 เป็นความรุนแรงของเนื้องอกในระดับปานกลาง โดยก้อนเนื้องอกจะแทรกซึมอยู่ในเนื้อเยื่อสมอง…ไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้!! แต่เนื้องอกเติบโต้ช้าจึงมีชีวิตอยู่ได้นานหลายปี
- ระดับที่ 3 เนื้องอกในระดับนี้..จัดว่าเป็น “มะเร็ง” และไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ พึ่งการรักษาแบบประคับประคอง
- ระดับที่ 4 หรือระดับรุนแรงมาก โดยผู้ป่วยมักเสียชีวิตในช่วงเวลาสั้นๆ
อาการอย่างไร ถึงเข้าข่ายเสี่ยงภัยโรคเนื้องอกสมอง
เนื่องจากอาการที่เป็นสัญญาณเตือนของกลุ่มโรคสมองส่วนใหญ่คือ “อาการปวดศีรษะ” จึงทำให้เราอาจจำแนกไม่ออกว่าอาการปวดนั้นเป็นโรคอะไรกันแน่ แต่โรคมักจะแสดงอาการออกมาดังนี้
- รู้สึกปวดศีรษะมากในตอนเช้าหลังตื่นนอน แล้วหายไป
- มีอาการปวดศีรษะมากขึ้นเมื่อล้มตัวลงนอน ไอ จาม หรือเบ่งอุจจาระ
- ปวดศีรษะมากจนทำให้ต้องตื่นขึ้นมากลางดึก
- ทานยาแก้ปวดแล้วก็ไม่หาย หรือสุดท้ายถ้าอาการหนักมากจะปวดตลอดเวลา
- มีอาการเวียนหัวและอาเจียนร่วมด้วย
- ในผู้ป่วยรายที่เนื้องอกโตไปกดทับระบบประสาทการมองเห็น อาจทำให้มีอาการตาพร่าและมองเห็นผิดปกติ
- มีอาการชัก หรือบางรายอาจมีอาการปวดศีรษะมากจนหมดสติเฉียบพลัน
- สูญเสียความสามารถในการพูดคุย หรืออาจมีลักษณะอาการคล้ายกลุ่มโรคหลอดเลือดสมอง คือ ปากเบี้ยว แขนขาอ่อนแรง หรือเป็นอัมพาตครึ่งซีก
รักษาอย่างไร เมื่อเป็นโรคเนื้องอกสมอง
ในเบื้องต้นแพทย์จะทำการวินิจฉัยอาการของโรคด้วยการซักประวัติ จากนั้นถ้าพบว่ามีความเสี่ยงจะเป็นโรคเนื้องอกสมอง แพทย์จะนำผู้ป่วยเข้ารับการทำ CT Scan และ MRI เพื่อตรวจให้แน่ชัดว่ามีเนื้องอกในสมองหรือไม่ และตำแหน่งของเนื้องอกนั้นอยู่บริเวณในของสมอง จากนั้นจะพิจารณาวิธีการรักษาตามความรุนแรงของโรค โดยบางรายอาจรักษาได้ด้วยวิธีการฉายรังสี การให้ยาเคมีบำบัด และบางรายก็อาจต้องใช้การผ่าตัดรักษา ซึ่งการจะเลือกรักษาด้วยวิธีใดนั้นก็ขึ้นอยู่กับตำแหน่งของเนื้องอก และระยะความรุนแรงและดุลยพินิจของแพทย์
การผ่าตัดส่องกล้องแผลเล็กรักษาโรคเนื้องอกสมอง
ปัจจุบันการผ่าตัดรักษาเนื้องอกสมองไม่ใช่เรื่องอันตรายเหมือนแต่ก่อน เนื่องจากเทคโนโลยีทางการแพทย์ที่ก้าวหน้าขึ้น และความเชี่ยวชาญเฉพาะทางของแพทย์ที่มีมากขึ้น ทำให้การรักษามีประสิทธิภาพมากขึ้นกว่าเดิม ส่งผลผู้ป่วยมีโอกาสหายดีและกลับมาใช้ชีวิตได้ตามปกติอีกครั้งมากขึ้น โดย “เทคนิคการผ่าตัดผ่านกล้องแผลเล็กรักษาเนื้องอกสมอง” ถือเป็นทางเลือกที่จะช่วยให้ผู้ป่วยเสี่ยงน้อยลง ปลอดภัยมากขึ้น เจ็บน้อยลง ฟื้นตัวเร็วขึ้น และกลับไปใช้ชีวิตได้ปกติอีกครั้งไวขึ้น กว่าการผ่าตัดเปิดแผลใหญ่แบบเดิม
ดูแลไม่ให้เป็นโรคมะเร็งสมองทำได้หรือไม่ ?
ปัจจุบันยังไม่ทราบแน่ชัดร้อยเปอร์เซ็นต์ว่า โรคเนื้องอกในสมองนั้นเกิดมาจากสาเหตุอะไรกันแน่ ดังนั้น จึงไม่ได้มีวิธีการที่การันตีได้ว่าทำอย่างไรเราถึงจะไม่เสี่ยงป่วยเป็นโรคนี้ แต่ถึงอย่างนั้น การป้องกันปัจจัยเสี่ยงที่เพิ่มโอกาสให้เราเป็นโรคนี้ ก็ยังสามารถทำได้ โดยหลักการแล้วก็คือ ต้องรักษาสุขภาพกายและใจให้แข็งแรงอยู่เสมอ และตรวจสุขภาพประจำปี นอกจากนี้ควรหลีกเลี่ยงการได้รับสารพิษต่างๆ หรือสารเคมีจากโรงงานอุตสาหกรรมคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า และรังสีต่างๆ ที่อาจส่งผลต่อความผิดปกติของเซลล์ในร่างกาย ไม่สูบบุหรี่ ไม่ดื่มเหล้า เพื่อลดโอกาสการเกิดมะเร็งอื่นๆ ที่สามารถแพร่กระจายมาเป็นเนื้องอกในสมองได้
ติดตามข่าวอื่นๆ ที่น่าสนใจได้ที่นี่ : กรมวิทย์ฯ ตรวจสอบคุณภาพวัคซีนฝีดาษคน เผย ยังมีคุณภาพ ได้มาตรฐาน